วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555


ความสำคัญของวัดที่มีต่อวิถีชีวิตคนไทย


วัด  คือคำเรียก สถานที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางศาสนาของผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ในประเทศไทยกัมพูชา และลาว ภายในวัดจะมี กุฏิ ซึ่งใช้เป็นเป็นที่อาศัยของนักบวชในศาสนาพุทธซึ่งก็คือ พระสงฆ์ อีกทั้งยังมีเจดีย์ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ เมรุ ซึ่งใช้สำหรับประกอบศาสนพิธีต่างๆ เช่น การเวียนเทียน การสวดมนต์ การทำสมาธิ
วัดโดยส่วนใหญ่นิยมแบ่งเขตภายในวัดออกเป็นสองส่วนคือ พุทธาวาส และสังฆาวาส โดยส่วนพุทธาวาสจะเป็นที่ตั้งของสถูปเจดีย์ อุโบสถ สถานที่ประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และส่วนสังฆาวาส จะเป็นส่วนกุฎิสงฆ์สำหรับพระภิกษุสงฆ์สามเณรจำพรรษา และในปัจจุบันแทบทุกวัดจะเพิ่มส่วนฌาปนสถานเข้าไปด้วย เพื่อประโยชน์ในด้านการประกอบพิธีทางศาสนาของชุมชน เช่น การฌาปนกิจศพ โดยในอดีตส่วนนี้จะเป็นป่าช้า ซึ่งอยู่ติดหรือใกล้วัด ตามธรรมเนียมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มฌาปนสถานในวัดพุทธศาสนาในประเทศไทยจะตั้งอยู่บนพื้นที่ ๆ เป็นป่าช้าเดิม
ปัจจุบัน วัดไทยในชนบทยังคงเป็นศูนย์รวมของคนในชุมชน ซึ่งต่างจากในเมืองใหญ่ที่วัดกลายเป็นเพียงสถานที่จำพรรษาของพระสงฆ์และเพื่อประกอบพิธีทางศาสนาเท่านั้น
พระอารามหลวง วัดในประเทศไทยแบ่งได้เป็นสองประเภทใหญ่ได้แก่ พระอารามหลวง หรือ วัดหลวง คือวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างหรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าจํานวนในบัญชีเป็นพระอารามหลวง และ วัดราษฎร์ คือวัดที่ได้รับพระราชทานที่วิสุงคามสีมา แต่มิได้เข้าบัญชีเป็นพระอารามหลวง หรือวัดที่พุทธศาสนิกร่วมใจบริจาคทรัพย์และที่ดินถวายเป็นสังฆาราม
การจัดลำดับชั้นของพระอารามหลวงมีดังต่อไปนี้
1   พระอารามหลวงชั้นเอก มีสามชนิด ได้แก่ ราชวรมหาวิหาร ราชวรวิหาร และวรมหาวิหาร
2.   พระอารามหลวงชั้นโท มีสี่ชนิด ได้แก่ ราชวรมหาวิหาร ราชวรวิหาร วรมหาวิหาร และวรวิหาร
3.   พระอารามหลวงชั้นตรี มีสามชนิด ได้แก่ ราชวรวิหาร วรวิหาร และสามัญ (ไม่มีสร้อยต่อท้าย)

           ข้อควรปฏิบัติในการไปวัดไทย

        ควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยและสำหรับการเตรียมอาหารไปถวายพระภิกษุ ต้องเป็นอาหารที่สุกแล้วหรือจำพวกผลไม้ อย่าถวายอาหารที่สุก ๆ ดิบ ๆ และควรระมัดระวังเนื้อสัตว์ต้องห้าม เช่น เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อสุนัข เนื้อราชสีห์ เนื้องู เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อเสือดาว เนื้อหมี ไปถวายพระภิกษุ เพราะเป็นเนื้อต้องห้ามสำหรับพระภิกษุ  และสุดท้าย ไม่ควรนำเด็กอ่อนไปวัดด้วย เพราะเด็กอาจจะร้องไห้สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่นได้
 



ความสำคัญของพระพุทธศาสนาต่อสังคมไทย มีดังนี้

1. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ชาวไทยส่วนใหญ่นับถือ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศร้อยละ 95 นับถือพระพุทธศาสนาสืบต่อมาจากบรรพบุรุษไทย นับตั้งแต่ไทยมีประวัติศาสตร์ชัดเจนชาวไทยก็นับถือพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว หลักฐานโบราณ ได้แก่ โบราณสถานที่เป็นศาสนสถาน โบราณวัตถุ เช่น พระธรรมจักร ใบเสมา พระพุทธรูป ศิลาจารึก เป็นต้น แสดงว่าผู้คนในดินแดนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนา (ทั้งนิกายเถรวาทและมหายาน) มาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 กล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทยมาช้านานแล้ว
2. พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมไทย เนื่องจากชาวไทยนับถือพระพุทธศาสนามาช้านาน จนหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาได้หล่อหลอมซึมซับลงในวิถีไทย กลายเป็นรากฐานวิถีชีวิตของคนไทยในทุกด้าน ทั้งด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรม ดังนี้
1) วิถีชีวิตของคนไทย คนไทยมีวิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ การแสดงความเคารพ การมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความกตัญญูกตเวที การไม่อาฆาตหรือมุ่งร้ายต่อผู้อื่น ความอดทนและการเป็นผู้มีอารมณ์แจ่มใส รื่นเริง เป็นต้น ล้วนเป็นอิทธิพลจากหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น ซึ่งได้หล่อหลอมให้คนไทยมีลักษณะเฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่นานาชาติยกย่องชื่นชม
2) ภาษาและวรรณกรรมไทย ภาษาทางพระพุทธศาสนา เช่น ภาษาบาลีมีอยู่ในภาษาไทยจำนวนมาก วรรณกรรมไทยหลายเรื่องมีที่มาจากหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา เช่น ไตรภูมิกถา ในสมัยสุโขทัย กาพย์มหาชาติ นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง ปุณโณวาทคำฉันท์ ในสมัยอยุธยา เป็นต้น
3) ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ประเพณีไทยที่มาจากความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนามีอยู่มากมาย เช่น การอุปสมบท ประเพณีทอดกฐิน ประเพณีแห่เทียนพรรษา ประเพณีชักพระ เป็นต้น กล่าวได้ว่าขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามีความผูกพันกับคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย
4) ศิลปกรรมไทย พระพุทธศาสนาเป็นบ่อเกิดของศิลปะแขนงต่างๆ วัดเป็นแหล่งรวมศิลปกรรมไทย ทางด้านสถาปัตยกรรม เช่น รูปแบบการเสร้างเจดีย์ พระปรางค์ วิหาร ที่งดงามมาก เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรุงเทพมหานคร ประติมากรรม ได้แก่ งานปั้นและหล่อพระพุทธรูป เช่น พระพุทธลีลาในสมัยสุโขทัย พระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก จิตรกรรม ได้แก่ ภาพวาดฝาผนังและเพดานวัดต่างๆ เช่น จิตรกรรมฝาผนัง วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร
3. พระพุทธศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจของสังคมไทย พระสงฆ์เป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชน เป็นศูนย์กลางของความเคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ให้คนไทยประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงามนอกจากนี้วัดยังเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมของชุมชน สร้างความสามัคคีในชุมชน
4. พระพุทธศาสนาเป็นหลักในการพัฒนาในการพัฒนาชาติไทย หลักธรรมทางพระพุทธศาสนามุ่งเน้นการพัฒนาคนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ใช้คุณธรรมและสติปัญญาในการดำเนินชีวิตเพื่อพัฒนาตนเองและร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม และพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญ
รุ่งเรือง นอกจากนี้พระสงฆ์หลายท่านยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำชุมชนพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น วัดเป็นแหล่งการเรียนรู้ของสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาวไทยได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา ได้ฝึกฝนอบรมตนให้เป็นคนดี เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติไทย
5. พระพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักของชาติไทย สถาบันหลักของชาติไทยที่คนไทยทุกคนให้ความเคารพนับถือ ประกอบด้วยชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญไทยได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ หมายถึง พระประมุขของชาติไทยที่ทรงนับถือพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศและยังเป็นอัครศาสนูปถัมภก คือ ทรงให้ความอุปถัมภ์ศาสนาทุกศาสนาในประเทศไทย

ความสำคัญของพระพุทธศาสนาในฐานะเป็นสถาบันหลักของสังคมไทย
                        

สถาบันพระพุทธศาสนาเป็นสถาบันหลักสถาบันหนึ่งของสังคมไทย คนไทยต่างให้การยอมรับนับถือมาตั้งแต่โบราณกาล และมีการสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก
          เมื่อพระพุทธศาสนาได้เข้ามาประดิษฐานมั่นคงในสังคมไทย วัดและพระสงฆ์มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของคนไทย วัดจึงได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม วัดเป็นศูนย์กลางของการอบรมสั่งสอนจริยธรรม เป็นสถาบันสำคัญทั้งในด้านการศึกษา สังคม และเป็นบ่อเกิดของศิลปะสาขาต่าง ๆ ส่วนพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนาก็ได้รับการยกย่องในสังคม ในฐานะเป็นผู้ทรงคุณธรรมควรแก่การเคารพและเชื่อฟังซึ่งสรุปได้ ดังนี้
          ด้านการศึกษา วัดเป็นสถานศึกษาเล่าเรียน โดยพระภิกษุสงฆ์ทำหน้าที่เป็นผู้อบรมสั่งสอนให้ความรู้ แม้ในปัจจุบัน พระสงฆ์ก็ยังคงทำหน้าที่สอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียน
              ด้านสังคม วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นที่ชุมนุม เพื่อทำบุญฟังพระธรรมเทศนา ตลอดจนการพบปะสังสรรค์ พระสงฆ์เป็นตัวแทนของสถาบันพระพุทธศาสนาที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชน
          ด้านศิลปกรรม วัดเป็นที่รวมแห่งศิลปกรรมประเภทต่าง ๆ เช่น ประติมากรรมปูนปั้น ศิลปกรรมแกะสลักไม้ จิตรกรรมฝาผนัง ตลอดถึงถาวรวัตถุต่าง ๆ ที่ศิลปินไทยได้ถ่ายทอดไว้ที่โบสถ์ วิหาร เจดีย์ องค์พระพุทธรูป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาในฐานะเป็นสภาพแวดล้อมที่กว้างขวางและครอบคลุมสังคมไทย
          
จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของชนชาติไทยพบว่าประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของดินเแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ เป็นที่ตั้งมั่นของพระพุทธศาสนามาเป็นเวลายาวนาน คำสอนของพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่ไปทุกภูมิภาคของประเทศและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของผู้คนจนก่อให้เกิดขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมอันเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา จนกลายมาเป็นสมบัติของชาติให้พุทธศาสนิกชนได้เกิดความภาคภูมิใจ
          พระพุทธศาสนาจึงมีความสัมพันธ์กับชีวิตประจำวันอย่างใกล้ชิดอยู่แล้วโดยปริยาย แม้มรรยาทต่าง ๆ ที่คนไทยถูกสอนให้เคารพอาวุโส มีการยืดมั่นและปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามขนบธรรมเนียมประเพณีก็ล้วนมาจากหลักเกณฑ์ทางพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น



ความสำคัญของวัดที่มีต่อวิถีชีวิตของคนไทย


                        
สังคมไทยเคารพศรัทธาต่อพระภิกษุมาก เนื่องเพราะเชื่อว่า พระภิกษุ นั้นเป็นผู้มีความรู้มากกว่าฆราวาส เป็นผู้ทรงศีล ย่อมพูดแต่สิ่งเท็จจริง และเป็นครูบาอาจารย์ ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนที่มีต่อวัดจึงผูกพันแนบแน่นกับวิถีชีวิตของ ทุกคนนับแต่เกิดจนตาย คำสั่งสอนจึงได้รับความเชื่อถืออย่างไร้ความคลางแคลงใจ ดังนั้นพระสงฆ์จึงกลายเป็นที่พึ่งของสังคมในทุกๆเรื่อง ไม่ว่าในทางที่เป็นมงคลและอัปมงคล
ส่วน วัด นั้นเป็นสถานที่รับใช้บริการงานประเพณีการทำบุญต่างๆเพื่อให้เกิดกุศลบุญแก่ ฆราวาส เนื่องในวันสำคัญทางศาสนาซึ่งมีอยู่แทบตลอดทั้งปี รวมทั้งเป็น
สถานที่ให้การศึกษาแก่ชุมชน นับแต่การบวชเณรจนถึงบวชเป็นพระภิกษุ
สถานที่ให้ความสงบเยือกเย็นทางใจ เช่น การแสดงพระธรรมเทศนา การฝึกปฏิบัติ ธรรม สมาธิ
เป็นสถานที่ชุมนุมของสังคมทุกกาลวาระ เช่น การประชุมกรรมการหมู่บ้าน งานเทศกาลรื่นเริงที่มีการ  ออกร้าน มีมหรสพต่างๆ เป็นต้น
เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมเนื่องในการตาย เช่น การตั้งศพสวดพระอภิธรรม การเผาศพ

ความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับวัง
พระมหากษัตริย์ในอุดมคติของสังคมไทย จะสมบูรณ์แบบได้นั้น ต้องแสดงศักยภาพของพระองค์ใน ๒ ลักษณะ คือ ความเป็นพระจักรพรรดิราช ที่สามารถปกป้องปวงประชาให้อยู่เย็นเป็นสุขจากศัตรู และ ความเป็นพระมหาธรรมราชา หมายถึง พระราชาผู้ทรงคุณธรรม ดังนั้นพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์จึงทรงดำเนินนโยบายตามแนวความคิดดัง กล่าวนี้มาโดยตลอด โดยการสร้างบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆก็เพื่อส่งเสริมให้ภาพลักษณ์แห่ง ความเป็น ธรรมราชาของพระองค์สมบูรณ์แบบขึ้น นอกเหนือจากการอาศัยศาสนามาช่วยในพิธีกรรมต่างๆนั่นเอง
ความสัมพันธ์ระหว่างบ้าน วัด และวัง
ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยดังกล่าวมาทั้งหมด มีความเกี่ยวเนื่องกับสถาบันหลัก ๓ประเภท คือ บ้าน วัด และวัง สถาบันทั้ง ๓ หน่วยนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันตลอดเวลา โดย วังนั้นอยู่ในสถานะของที่ประทับแห่งกษัตริย์หรือผู้นำของสังคมและประเทศชาติ วังจึงเป็นเสมือนหนึ่งสัญลักษณ์แห่งศูนย์รวมในทางอาณาจักร ในขณะที่ บ้านเป็นที่พักอาศัยของเหล่าทวยราษฎร เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับ วัดอันเป็นที่ตั้งของพุทธสถานนั้น ก็จะดำรงอยู่ในฐานะศูนย์รวมทางจิตใจที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่าง วังกับ บ้านหรืออีกนัยยะหนึ่งระหว่าง กษัตริย์กับ ราษฎรเมื่อไทยรับเอาอิทธิพลความเชื่อในเรื่องของ สมมุติเทพจากขอมเข้ามาใช้ในสังคมสมัยอยุธยา ภาพลักษณ์และบทบาทแห่งกษัตริย์ของไทยยิ่งมีความสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง ขึ้น จนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับราษฎรกลับมีช่องว่างห่างกันมาก วัดจึงเป็นเสมือนสายใยที่เชื่อมโยงช่องว่างดังกล่าวนั้น วัดสำคัญๆโดยเฉพาะอย่างวัดมหาธาตุ ถูกสถาปนาขึ้นด้วยชนชั้นปกครองทั้งสิ้น เนื่องจากต้องอาศัยกำลังและทรัพย์วัสดุในการก่อสร้างจำนวนมาก วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้นจึงวิจิตรบรรจงงดงาม เมื่อวัดดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นศูนย์รวมในทางจิตใจของชุมชน กษัตริย์ในฐานะผู้สร้างวัดก็ย่อมได้รับความเคารพศรัทธาและซื่อสัตย์จงรัก ภักดีจากทวยราษฎร์ในชุมชนนั้นโดยปริยาย อำนาจและพลังมวลชนที่กษัตริย์พึงจะได้มา อาศัยการสื่อผ่านทางเจ้าอาวาสวัดต่างๆนี้โดยตรง นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างความหมายของบ้าน วัด และวัง

วัดในสถานะที่เป็นศูนย์กลางของสังคมมีความสำคัญและบทบาทหน้าที่ดังนี้ คือ
๑.วัดในฐานะตัวแทนความเจริญและความมั่นคงของแผ่นดิน
๒.วัดในฐานะสถาบันผู้สืบทอดศาสนาให้ยั่งยืน
๓.วัดในฐานะสถานที่ให้การศึกษา
๔.วัดในฐานะที่พึ่งทางกายและใจของสังคม
๕.วัดในฐานะศูนย์รวมของศิลปกรรม

บทวิเคราะห์ 

ในสมัยโบราณวัดเป็นสถานที่รวมจิตใจของคนไทยและนอกจากนั้นวัดยังเป็นสถานที่ให้ความรู้แก่คนในสมัยก่อนเพราะเเต่ก่อนยังไม่มีโรงเรียนก็เลยใช้วัดเป็นที่ให้ความรู้เเก่เด็กโดยมีพระเป็นผู้อบรมสั่งสอนและวัดยังเป็นที่ชุมนุมของคนเพื่อเป็นที่ประชุมหรือเพื่อเป็นที่ชำระจิตใจของผู้คน นับได้ว่าในสมัยก่อนวัดมีอิทธิพลมากต่อคนไทยจนมาถึงในยุคสมัยปัจจุปันวัดก็ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยมาช้านาน ซึ่งวัดจะเป็นที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าต่างๆไว้มากมายนอกจากนี้วัดก็ยังเป็นศูนย์รวมความเชื่อต่างๆทางไสยศาสตร์ของชาวพุทธซึ่งเป็นความเชื่อของเเต่ละบุคคล  ในปัจจุบันนี้ในประเทศไทยจะมีวัดต่างๆมากมายที่เกิดจากหลายเชื้อชาติที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทยเช่น วัดจีน ทั้งนี้ก็จะเกิดทั้งข้อดีเเละข้อเสีย ซึ่งข้อดีก็คือมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมได้ แต่ข้อเสียคือ ความขัดเเย้งของความคิดและวัฒนธรรมได้ ในฐานะที่เราเป็ทหารเราควรช่วยกันทะนุบำรุงรักษาวัดให้มั่นคงอยู่คู่กับคนไทยเพื่อให้คนไทยได้มีที่ยึดเหนี่ยวจิตใจทั้งในยามทุกข์และยามสุข  ดังนั้นวัดจึงเปรียบเสมือนแหล่งรวบรวมและสร้างวัฒนธรรม ซึ่งวัฒนธรรมเป็นค่านิยมและความเชื่อที่มีร่วมกันมาอย่าช้านานซึ่งเป็นระบบที่เกิดขึ้นในสังคมแทบทุกสังคมของคนไทยและกลายเป็นแนวทางในการกำหนดแบบแผนพฤติกรรม บรรทัดฐานของคนไทย วัฒนธรรมจึงเป็นเสมือนบุคลิกภาพ และจิตวิญญาณของคนในสังคม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทหารจึงเป็นกำลังสำคัญในการรักษาวัดซึ่งเป็นสมบัติของคนไทยไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมในความงดงามของวัฒนธรรมของคนไทย

อ้างอิง
http://www.oknation.net/blog/preeeecha/2010/02/17/entry-3
http://lms.thanyarat.ac.th/namtip/html/c/c10.html
www.maceducation.com/e-knowledge/2373104100/08.htm

จัดทำโดย
นนร.ธรรมรัตน์   แววศรี  ชั้นปีที่ ๒  ตอน สศ ๑   เลขที่  ๒๐

ที่ปรึกษา
ร.อ.ฐนัส มานุวงศ์

บล็อคนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชานิเวศวิทยามนุษย์
กองวิชากฏหมายและสังคมศาสตร์                             
ส่วนการศึกษาโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า